บริษัท ครีเอทีฟ คาร์บอน แคร์ จำกัด

การลดก๊าซเรือนกระจก: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

การลดก๊าซเรือนกระจก: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

การลดก๊าซเรือนกระจก: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

 

จุดเริ่มต้นของการลดก๊าซเรือนกระจก

จุดเริ่มต้นจริงๆจังๆของแนวคิด การรณรงค์ ขับเคลื่อน เร่งรัด และปัจจุบันการลงมือทำอย่างสมัครใจแกมบังคับให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดขึ้นตั้งแต่มนุษย์รู้ว่า ก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อน และโลกร้อนก็มีแต่จะทำให้ชีวิตบนโลกนี้ลำบาก ตั้งแต่มีการวิเคราะห์เก็บรวบรวมข้อมูลและนำเสนอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในรายงานฉบับแรกของ IPCC ในปี 1990 แม้ผลของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้และผลต่อการยับยั้งการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังไม่เป็นตามที่คาดหวัง แต่ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่บนโลกนี้ก็ยอมรับกันไปแล้วว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อหยุดภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่บนโลกนี้

ช่วงก่อนปี 2015: การตระหนักรู้แต่ยังไม่ลงมือทำ

ช่วงก่อนปี 2015 ปีที่ผ่านมา แม้คนส่วนใหญ่จะตระหนักว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นปัญหาสำคัญ แต่ก็ยังคิดว่าเป็นอะไรที่ไกลตัว ยังไม่จำเป็นต้อง action อะไรมากมายนัก ซึ่งจะเห็นได้จากผลการดำเนินการผ่านข้อตกลง กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศต่างๆ ซึ่งยังไม่เข้มข้น ยังเป็นลักษณะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ (ก็ไม่เห็นใครว่าอะไร!) ยังมองไม่เห็นว่ามันจำเป็นจริงๆในการดำเนินการ ยังมองว่าการลดก๊าซเรือนกระจกยังเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมของประเทศหรือหน่วยงาน โดยไม่ได้ผลประโยชน์อะไรกลับคืนมา ยังไม่ได้มองว่า การลดก๊าซเรือนกระจกนั้นเป็นการลงทุนเพื่อชีวิตของตนเองในปัจจุบันและลูกหลานในอนาคต

ช่วงหลังปี 2015: การเปลี่ยนแปลงที่ให้ความหวัง

ช่วงหลังปี 2015 มีการเปลี่ยนแปลงที่ให้ความหวังต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ในระดับโลก มีข้อตกลงฉบับใหม่ (ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศเดิม “กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ-United Nations Framework Convention on Climate Change, UNFCCC) คือ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) มีช่วงเวลาดำเนินการระหว่างปี 2020-2030 ความตกลงปารีสนี้ ในส่วนของการลดก๊าซเรือนกระจก มีความแตกต่างจากข้อตกลงอื่นที่ผ่านมาคือ ให้ประเทศต่างๆเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของตนเองมาก่อน เอาตามความสามารถหรือความเหมาะสมหรือแม้แต่ความสะดวก แต่หลังจากเสนอเป้าหมายมาแล้ว UNFCCC จะติดตามตรวจสอบว่าทำได้ตามที่เสนอมาหรือไม่ ถ้าไม่ได้ UNFCCC จะเข้ามาดูว่ามีปัญหาอะไร จะให้ UNFCCC เข้ามาช่วยตรงไหนได้บ้าง ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายยอมให้มีการตรวจสอบข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน (การตรวจสอบทั้งการลดและการปล่อยเป็นการดำเนินการต่อประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น) เป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกนี้ ก็ควรให้มีความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ โดยให้มีการปรับได้ทุกๆ 5 ปี ประเทศไทยเราเองเริ่มต้นเราตั้งเป้าการลดที่ 20-25% เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย และปรับมาเป็น 30-40% ภายในปี 2030 ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการอีกหลายๆกรณีที่เชื่อมโยงกับความตกลงปารีส ที่สำคัญคือ การตื่นตัวของของภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ที่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการแสวงประโยชน์ผ่านช่องการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้ผ่านตลาดคาร์บอน การดำเนินธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ การับรองและการกำหนดมาตรฐานการปล่อยคาร์บอนขององค์กรและผลิตภัณฑ์ (Carbon footprint of organization & product) การขายเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น

การผนวกกำลังระดับประเทศและการขับเคลื่อนของภาคเอกชน ทำให้มีความหวังการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความชัดเจนและมีความหวังมากว่าจะสำเร็จได้มากขึ้น เท่านี้ยังไม่พอ ปัจจุบัน เกิดส่วนขยายของเป้าหมายของความตกลงปารีส คือ มีการเพิ่มเติมเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission)

ช่วงหลังเราจะเห็นอีกว่า การขับเคลื่อนเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) เป็นประเด็นที่มาแรงอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะการการนำ SDGs มาเป็นหนึ่งในเป้าหมายในการทำธุรกิจและการตลาด ซึ่งหนึ่งใน SDGs ก็เป็นเรื่องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการเฉพาะ จะเห็นว่าเป้าหมายการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการดำเนินธุรกิจ ส่วนหนึ่งกลายมาเป็นเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือเราเดินทางมาถึงจุดที่ มนุษย์สามารถสร้างโอกาสและทำกำไรทางธุรกิจจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้แล้ว การธุรกิจแนวนี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและจะกลายมาเป็นอีกหนึ่งของสาขาธุรกิจมีเพิ่มมูลค่าทางการตลาดสูง พร้อมๆกับความต้องการแรงงานและกำลังคนที่มีความรู้ด้านนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสาขาหลักอีกสาขาหนึ่งของตลาดทั่วโลกในเวลาอันใกล้นี้

พัฒนาการในประเทศไทย

ประเทศไทยเรามีการตั้งเป้าหมายกการลดก๊าซเรือนกระจก ณ ปี 2030 ภายใต้ความตกลงปารี และมีเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามที่เขียนไว้ข้างบนเรียบร้อยแล้ว ในปี 2023 เรามีหน่วยงานใหม่ระดับกรม คือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มาเป็นศูนย์กลางในการวางนโยบายและขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังเป็นเรื่องเป็นราว และสิ่งที่ตามมาที่สำคัญมากคือ การร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะผ่านออกมามีผลบังคับใช้ภายในไม่เกินเวลาหนึ่งปีจากนี้ (เดี๋ยวผมจะมาเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายนี้อีกที) ในส่วนของภาคปฏิบัติ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ก็ขยายกิจกรรมต่างๆมากมาย แต่ที่มีผลต่อวิถีชีวิตของเราคือ การกำหนดระบบมาตรฐานการทำคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และความร่วมมือกับองค์กรต่าง โดยเฉพาะกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ให้รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังได้สร้างระบบรรับรองและการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอีกมากมาย ทำให้บรรยายกาศการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกมีความคึกคักขึ้นมาอย่างมาก และกลายเป็นว่า ไม่ว่าเราจะทำงานหรือธุรกิจอะไรก็หนีไม่พ้นต้องมีเอี่ยวในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดก๊าซเรือนกระจก ถีงขนาดนั้นกันเลยทีเดียว

แชร์บทความ:

Facebook
Twitter
LinkedIn
Email

บทความอื่นๆ